วันอาทิตย์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2558

การสักยันต์


การสักยันต์


การสักยันต์


 การสักยันต์ มีจุดประสงค์หลักในเรื่องของความเชื่อทางไสยศาสตร์ เช่น จะทำให้มีโชค แคล้วคลาด ปลอดภัย อยู่ยงคงกระพัน และพ้นจากอันตรายต่าง ๆ โดยมีความเชื่อว่า รูปแบบลายสักหรือยันต์แต่ละชนิดจะให้คุณที่ต่างกัน  และผู้ที่ได้รับการสักยันต์จะต้องปฏิบัติตามข้อบังคับที่แต่ละสำนักกำหนดไว้ เช่นห้ามด่าบิดามารดา ห้ามลบหลู่ครูอาจารย์ เป็นต้น

ขอขอบคุณ..ภาพจากวัดบ้านโตนด จ. นครราชสีมา 19/4/58
การสัก คือ การเอาเหล็กแหลมแทงลงด้วยวิธี การหรือเพื่อประโยชน์ต่าง ๆ กัน ใช้เหล็กแหลมจุ้มหมึกหรือน้ำมันแทงที่ผิวหนังให้เป็นอักขระ เครื่องหมายหรือลวดลาย ถ้าใช้หมึกเรียกว่าสักหมึก ถ้าใช้น้ำมันเรียกว่าสักน้ำมัน
คำว่า "ยันต์" ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กล่าวว่า ยันต์คือตารางหรือลายเส้นเป็นตัวเลข อักขระ ลวดลายหรือรูปภาพที่เขียน สัก หรือแกะสลักลงบนแผ่นผ้า ผิวหนัง ไม้ โลหะ เป็นต้น ถือว่าเป็นของขลัง เช่น ยันต์ตรีนิสิงเห ยันต์พระเจ้า ๕ พระองค์ เรียกเสื้อหรือผ้าเป็นต้นที่มีลวดลายเช่นนั้นว่า เสื้อยันต์ ผ้ายันต์ เรียกกิริยาที่ทำเช่นนั้นว่า ลงเลข ลงยันต์
สักยันต์ไปทำไม?
ในสมัยโบราณมักจะทำการสักยันต์เพื่อสร้างขวัญกำลังใจ มีความเชื่อมั่น ศรัทธามาจากความเชื่อและความศรัทธาเลื่อมใส เป็นขวัญกำลังใจและเป็นสัญลักษณ์ของเผ่าต่างๆ เพื่อให้เข้มแข็งมีปาฏิหาริย์ โดยใช้ไสยเวทย์สัมฤทธิ์ผล คือ ยันต์ที่สักไว้บนส่วนต่างๆของร่างกาย โดยมีการเสกเป่าอัญเชิญครูบาอาจารย์มาคุ้มครองรักษากำกับไว้ทุกครั้งที่สักยันต์
การสักยันต์ผู้สักต้องมีความเคารพศรัทธา เชื่อฟังปฏิบัติตามคำสั่งสอนของครูบาอาจารย์และมีคุณธรรมประจำใจ ปาฏิหาริย์เกิดจากศรัทธา ความเจริญก้าวหน้าเกิดจากคุณธรรม การสักยันต์นั้นเพื่อเสริมสร้างขวัญและกำลังใจให้เพิ่มขึ้นและเป็นการระลึกถึงครูบาอาจารย์ที่ประสาทประสิทธิ์ยันต์นั้นให้แก่เรา
ประเภทของการสัก แบ่งเป็น 2 แบบคือ
1. สักหมึก
เป็นการใช้อุปกรณ์สักที่แหลมคมจุ่มในหมึก ซึ่งหมึกในสมัยก่อนจะเป็น หมึกที่ใช้ในการสักยันต์ที่มาจากธรรมชาติไม่ใช้หมึกดำแบบในปัจจุบัน เช่น ดีปลาช่อนฝนผสมด้วยว่านนาคราช หรือ ว่านสบู่เลือด ซึ่งว่านพวกนี้จะให้ผลในด้าน คงกระพันชาตรี จากนั้นทิ่มแทงลงบนผิวหนังในบริเวณที่ต้องการสัก สามารถสักได้ทุกลวดลายตามต้องการ วิธีการสักหมึกนี้เป็นการสักที่นิยมกันในหมู่ของนักสักยันต์ทั้งหลายคน เพราะจะสามารถเห็นลายสักได้ชัดเจน หรืออีกนัยหนึ่งเพื่อเป็นการโชว์ลวดลายในเชิงศิลปะของยันต์
2. สักน้ำมัน
เป็นการสักยันต์ด้วยน้ำว่าน 108 ซึ่งให้ผลทางด้านเมตตา มหาเสน่ห์ และเป็นที่นิยมกันมากจนถึงปัจจุบัน เพราะไม่เห็นรอยสักเหมือนกับการสักแบบหมึก เหมาะกับคนที่ไม่ต้องโชว์ลวดลายของยันต์ โดยน้ำมันที่ใช้ในการสักส่วนใหญ่จะใช้น้ำมันงาซึ่งเมื่อเข้าสู่ร่างกายจะไม่ทำอันตรายใดๆต่อร่างกาย บางสำนักจะผสมน้ำมันช้างตกมัน น้ำมันเสือโคร่ง น้ำมันเสือ น้ำมันช้าง น้ำมันปลาพะยูนไปผสมด้วยเพื่อความเข้มขลัง
ในการสักแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ได้แก่
- การสักทางด้านคงกระพัน เพื่อให้เกิดความแคล้วคลาด หนังเหนียว การสักยันต์ประเภทนี้จะเป็นการสักยันต์ พวก ยันต์มหาอุด ยันต์หนุมาน ยันต์ตะกร้อ ยันต์ปัดทมึน ยันต์เสือ ยันต์ลิงลม และการสักยันต์จะมีกฎข้อห้ามตามแต่สำนักสักยันต์ เช่นการห้ามกินฟัก ห้ามกินบวบ ห้ามลอดใต้บันได

- การสักทางด้านเมตตา ส่วนใหญ่การสักยันต์ชนิดนี้จะเน้นไปที่การค้าขาย ความรักเสน่ห์หา เช่น ยันต์สาลิกา ยันต์นาคเกี้ยว ยันต์พระยานาค หรือยันต์ที่เป็นรูปสัตว์ต่างๆ ผสมกับว่านสาวหลง ว่านจังงัง ว่านเสห่น์จันทร์ ว่านดอกทอง ว่านเพชรหึง ตามแต่สูตรผสมสำนักนั้นๆ


ยันต์สาลิกา ความหมาย ความเชื่อ ใช้ในทางเมตตามหานิยม เป็นเสน่ห์วิเศษดียิ่งนัก เวลาเข้าไปหาใครก็ตาม เช่น ไปสมัครงาน นัดสัมภาษณ์ นักร้องนักแสดง นักเทศน์ทำให้ผู้ได้ประสบพบเจอถูกตาต้องใจ โดยเฉพาะการค้าขายขายดีมีกำไล
ยันต์เก้ายอด ความหมาย ความเชื่อ ของยันต์หมายถึงคุณวิเศษของพระพุทธเจ้าทั้ง 9 ประการ ซึ่งแสดงให้เห็นในรูปของยอดแหลมทั้ง 9 ยอด ลายสักยันต์นี้ดีในการป้องกันศาสตราวุธทั้งหลาย สมัยก่อนนิยมสักเพื่อการป้องกันคุ้มครองตนเองให้ปลอดภัยจากสรรพภัยต่างๆ โดยเฉพาะการเดินทาง

 
ยันต์เจ็ดแถว หนึ่งเดียวในสยาม ลงอักขระพิเศษ พร้อมลวดลายอันละเอียด คือ เมตตามหานิยม แคล้วคลาดปลอดภัยคุ้มครองทุกสารทิศ มีความศักดิ์สิทธิ์ในตัวด้วยการลงคาถากำกับ
 
 
 
 ยันต์หนุนดวง การสักยันต์หนุนดวงมีพลังอานุภาพครอบคลุมทุกด้าน และสามารถเกื้อหนุนดวงที่ตกต่ำให้โดดเด่นขึ้นมาได้เป็นคาถาเมตตามหานิยม เป็นคาถาหนุนดวงชะตา เป็นคาถาแห่งความสำเร็จ  เป็นคาถาราศีประจำตัว  เป็นคาถามหาเสน่ห์ และแต่ละแถวจะมีพระปิดตา ช่วยเปิดช่องทางในการทำธุรกิจ คอยหนุนเรื่องการค้าให้ก้าวหน้า มั่นคงยิ่งขึ้น ถ้าคนดวงไม่ดี

                             
ดังนั้น ความเชื่อส่วนบุคคลเรื่องของการสักยันต์ ในรูปและลวดลายต่างๆ เพื่อให้มีผลและอานุภาพคุ้มกายอยู่ติดตัวไปตลอดชีวิตด้วยอักขระภาษาขอม ภาษาธิเบต ภาษาธรรม ภาษาเทวะนาคี ฯนั้น ยังเป็นที่นิยมของผู้ที่มีความเชื่อในความศรัทธาอันแรงกล้าของครูบาอาจารย์ผู้ที่ทำการสักให้ เป็นที่เคารพบูชากราบไหว้ รวมถึงการยึดมั่นถือมั่นในการปฏิบัติตนที่ดีมีศีลธรรมในทิศทางบวก ไม่ปฏิบัติตนที่ขัดต่อศีลธรรมจารีตประเพณีเพื่อการดำรงชีวิตที่มีความสุขบนพื้นฐานของความเคารพบูชาและการอยู่ในกรอบศีลธรรมอันดี นำมาซึ่งความสุขสวัสดี มีโชคมีชัยทุกท่าน...
 
 
ข้อความและภาพประกอบ ผู้เขียนเป็นผู้ค้นคว้าข้อมูลและถ่ายภาพเองโดยมีเจตนาเพื่อการค้นคว้าข้อมูลและเผยแพร่ความรู้หากผิดพลาดประการใด ผู้เขียนขอน้อมรับไว้ ณ โอกาสนี้  
 
เทิดมหาบูรพาจารย์ครูบาแบ่ง ฐานุตฺตโม
       ครูบาแบ่งแบบเบื้อง                พระพุทธา นุภาพเอย
เอกสงฆ์กรุณา                             เลิศล้น
สานุศิษย์ท่านเมตตา                       อวยสวัสดิ์ พิพัฒน์มงคล
หนุนสรรพสัตว์ล่วงพ้น                   ทุกข์ร้อนผ่อนคลาย
       สิบห้าสิงหาเวียนบรรจบ          ศิษย์น้อมนบเศียรแนบบาทเสกสรรค์
ครูบาแบ่งเลิศสงฆ์ทรงศีลธรรม์          น้อมชีวันวันทาคุณาจารย์
ครบวาระวันเกิดประเสริฐศรี             หกสิบเอดปีครูบาแบ่งคุณไพศาล
บ้านโตนดโนนสูงรุ่งเรืองกาล      ฉลองชนมวารสงฆ์อะคร้าวพราวสัทธรรม
สาลิกาเดี่ยวม้าน้ำเอกอดุลย์               พระพุทธคุณประเทืองเฟื่องฉนำ
เกียรติยศสวัสดิ์อวยร่ำรวยนำ             วาจาฉ่ำชื่นเย็นเป็นวาริน
เสียงเสนาะเพราะพร้องก้องวิเวก          ศิลปินเอกค่าทวีคีตศิลป์
เจิดจรัสแจ่มจ้าครายลยิน                  งามระบิลลักษณ์ล้ำฉ่ำกมล
                บัวเอย บัวบูชา            ครูบาแบ่งเมตตาศุภผล
บูชาพระพุทธานุภาพอาบกมล            บูชาผลพระธรรมคุณหนุนชีวี
บูชาสงฆ์อ่าอำไพไกลกิเลศ               บุชาเดชพระพุทธคุณอุ่นเกศี
ครูบาแบ่งเลิศวิลัยในปัฐพี                 น้อมชีวีเทิดมหาบูรพาจารย์
                                                                                          ประพันธ์ถวายโดย   อ.สมพร  ทองสีเขียว
 
                                             
 
 
 
 

 

 
 

วันอังคารที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ลิเกโคราช ศาสตร์และศิลป์แห่งศิลปะการแสดง

 เขียนโดย อ.วาสนา  ร่มโพธิ์  วิทยาลัยนาฏศิลปนครราชสีมา

        เมื่อวันที่ 13-14สิงหาคม 2553 ที่ผ่านมา วิทยาลัยนาฏศิลปนครราชสีมาร่วมกับโรงละครแห่งชาติภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.นครราชสีมา ได้จัดงานมหกรรมศิลปวัฒนธรรม ภายใต้โครงการไทยเข้มแข็ง โดยรวมการแสดงนาฏศิลป์ 4 ภาค มาจัดแสดง ณ เวทีกลางแจ้งและในโรงละครแห่งชาติภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.นครราชสีมา  มีรายการที่น่าสนใจอยู่มากมายโดยเฉพาะการเสวนาลิเกโคราช ดำเนินการโดย อ. อนันท์ นาคคง  ผู้เชี่ยวชาญทางด้านดนตรีจากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล บรรยากาศการเสวนาสนุกสนานและมีสาระอันเป็นประโยชน์ดีมาก ผู้เขียนจึงขอนำเรื่องราวมาเล่าสู่กันฟัง

....เห่ เฮ เฮ เฮ้ เฮเห่เฮ เฮเห่เฮ เฮเห่เฮ เฮ้เฮเฮเฮ.... สาลามานา ฮัดชาสาเก
ปลาดุกกระดุกกระดิก เอาไปผัดพริกอร่อยดีเฮ     สวัสดีพ่อแม่ทั้งหลาย พี่น้องหญิงชายที่สนใจลิเก...............
ฮาเลวังกา รีบ ๆ เข้ามาดูลิเก
         เสียงคำร้องข้างบนนี้ผู้เขียนสามารถร้องตามและยังจำติดหูได้ตลอดมา  เมื่อผู้เขียนได้ยินเสียงผู้ชายที่แต่งตัวคล้ายแขก สวมหมวกหนีบออกมายืนจับไมค์ร้องเพลง เรียกกันว่า การออกแขก อันเป็นการเริ่มต้นการแสดงลิเก  จึงเคลื่อนย้ายตัวเองไปอยู่ใกล้ๆเวที ชนิดติดขอบเวทีก็ว่าได้  เอ๊ะๆ ไม่ใช่แม่ยกนะแต่ต้องเก็บรูปสวยๆ มาฝากท่านผู้อ่านไงคะ
          ลิเกโคราช เป็นเอกลักษณ์และวัฒนธรรมทางด้านศิลปะการแสดงที่สืบทอดกันมาตั้งแต่รุ่นคุณปู่ คุณย่า หลังสงครามโลกครั้งที่ 2   ลิเกโคราชยุคแรกๆได้ยึดแบบอย่างการแสดงจากละครนอกซึ่งมีแต่ผู้ชายล้วน
คณะลิเกที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือ คณะดอกดิน เสือสง่า พ่อดอกดินเป็นบุคคลที่มีพรสวรรค์ในการเล่นลิเกมาก วงการลิเกต้องจารึกชื่อของท่านไว้ในประวัติศาสตร์ลิเกไทย เพราะท่านเป็นคนแรกที่นำชายจริง หญิงแท้มาเล่นตามบทบาท และมีรูปแบบการแสดงที่มีแบบแผน นอกจากนี้พ่อดอกดินยังได้คิดเพลง รานิเกลิง อันเป็นสัญลักษณ์ของการร้องลิเกขึ้นใหม่แทนการใช้เพลงหงส์ทองเดิม ลิเกนั้นได้มีวิวัฒนาการหลากหลายรูปแบบและมีชื่อเรียกต่างกันคือ ลิเกบันตน ลิเกลูกบทและลิเกทรงเครื่อง
ลิเกบันตน เป็นการแสดงเรื่องราวละครชุดสั้นๆ ใช้รำมะนาเป็นเครื่องดนตรีแต่เครื่องแต่งกายและสำเนียงเจรจายังเลียนแบบชาวมุสลิม
ลิเกลูกบท เกิดจากพวกปี่พาทย์นำลิเกบันตนไปแสดงประกอบการบรรเลงเพลงลูกบทโดยใช้ปี่พาทย์ทำเพลงรับแทนการใช้ลูกคู่ร้องประกอบการตีรำมะนาแบบเดิม
ลิเกทรงเครื่อง เกิดจากการผสมผสานการแสดงของลิเกบันตนและลิเกลูกบทเข้าด้วยกันซึ่งเดิมแต่งตัวด้วยเสื้อคอกลม นุ่งโจงกระเบนและมีผ้าคาดเท่านั้น ครั้งถึงยุคพระยาเพชรปาณี(ผู้ให้กำเนิดวิกลิเกคนแรก)ท่านได้นำเครื่องแต่งกายของข้าราชการในสมัยรัชกาลที่ 5 มาดัดแปลง จึงเรียกกันว่าแต่งองค์ทรงเครื่องและเพี้ยนมาเป็นลิเกทรงเครื่อง
                   ปัจจุบันการแสดงลิเกพยายามดัดแปลงการแสดงให้แตกต่างจากรูปแบบเดิมทั้งเครื่องแต่งกายที่สวยงามเน้นความอลังการด้วยเพชรหรือคลิสตัล การปรับเนื้อเรื่องแสดงให้กระชับฉับไวรวดเร็ว สนุกสนาน ใช้ภาษาที่ทันสมัยทันต่อเหตุการณ์บ้านเมือง
                โรงลิเกนับว่าเป็นสถานที่สำคัญสำหรับการแสดงลิเก ทั้งแบบสร้างชั่วคราวและแบบถาวรซึ่งจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลักๆ คือส่วนหน้าและส่วนหลังโดยใช้ฉากที่ทำจากผ้าดิบเขียนเป็นภาพต่าง ๆ กั้นเป็นฉาก ภาพที่นิยมก็คือฉากท้องพระโรง ด้านบนของฉากมีชื่อคณะพร้อมเบอร์โทรศัพท์บอกไว้อย่างชัดเจนซึ่งถือเป็นการโฆษณา และสิ่งที่จะขาดไม่ได้เลยบนเวทีก็คือ เตียง เป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุดในการแสดงเพราะใช้ได้เอนกประสงค์ไม่ว่าจะเป็นราชอาสน์ของพระราชา ภูเขา บ้าน หรือแม้แต่เป็นเตียงของยาจกสุดแล้วแต่จะสมมติขึ้นมา ด้านขวาของเวทีเป็นที่ตั้งของวงปี่พาทย์ซึ่งประกอบด้วยเครื่องดนตรีหลักได้แก่ ระนาดเอก ปี่ ขลุ่ย ตะโพน ฉิ่งและฉาบ
             การแต่งหน้าของลิเกนั้นเริ่มมีในยุคลิเกทรงเครื่องโดยแต่งเลียนแบบละครรำ ซึ่งมี 3 ขั้นตอนหลัก คือ ผัดหน้า เขียนคิ้วและทาปาก อีกวิธีหนึ่งที่ลิเกชอบทำนั่นก็คือ การแรเงาสันจมูกให้ดูโด่ง แต่โดยรวมแล้วการแต่งหน้าของลิเกไม่มีแบบแผนตายตัว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับรสนิยมหรือสมัยนิยม
             ลิเกแต่ละคณะปกติแล้วจะมีนักแสดงประมาณ 10 คน ประกอบด้วย พระเอก นางเอก ตัวพ่อ
ตัวแม่ของนางเอกหรือพระเอก พระรอง ตัวตลก ตัวโกง นางอิจฉา เป็นต้น ลิเกเป็นอาชีพที่ผู้เล่นจะรู้หน้าที่ของตน มีความเป็นระเบียบ สงบและเคารพนับถือผู้อาวุโสไม่ว่าผู้นั้นจะมีตำแหน่งใดในคณะก็ตามและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นที่เคารพบูชาของชาวลิเกก็คือ ศีรษะฤาษี หรือคนในวงการนาฏศิลป์เรียกว่าพ่อแก่ ฉะนั้นก่อนเริ่มการแสดง ทุกคนในคณะลิเกต้องไหว้พ่อแก่ ก่อนโดยเชื่อกันว่าจะเป็นการช่วยปัดเสนียดจัญไรต่างๆออกไปก่อนเริ่มการแสดง ซึ่งถือเป็นอีกขวัญกำลังใจหนึ่งของผู้แสดง
                  ชาวโคราช นิยมดูการแสดงลิเกเป็นอย่างมาก เพราะลิเกเป็นการแสดงที่สนุกสนาน มีการดำเนินเรื่องเร็วและตลกขบขัน นอกจากตัวพระเอกนางเอกที่ช่วยชูโรงแล้ว ตัวแสดงที่เป็นที่ชื่นชอบของคนทุกเพศทุกวัยก็คือตัวตลกหรือที่มักเรียกว่า ตัวโจ๊ก ซึ่งช่วยสร้างสีสันให้กับเรื่องเป็นอย่างดี
                  ครูบุญยัง เกตุคง (ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง นาฏศิลป์ไทย (ลิเก) พ.ศ. 2534) เป็นบุคคลหนึ่งที่สร้างชื่อเสียงด้านลิเกโคราชให้โด่งดังไปทั่วประเทศ มีความสามารถทางศิลปะการแสดงลิเก และดนตรี ที่มีผลงานดีเด่น เป็นที่ยอมรับในวงการเดียวกันว่า เป็นผู้รอบรู้ทั้งกระบวนกลอน กระบวนร้องและกระบวนรำของลิเกทรงเครื่อง ซึ่งได้รับการถ่ายทอดโดยตรงจากปรมาจารย์ผู้ก่อตั้งศิลปะแขนงนี้ มีความสามารถในการแสดงได้หลายบทบาท และถ่ายทอดกระบวนการร่ายรำลิเกทรงเครื่องมายังคณะลิเกต่างๆ ในละแวกถนนมุขมนตรีซึ่งเป็นแหล่งรวมลิเกโคราชที่หนาแน่นที่สุดในจังหวัดนครราชสีมา  
            การแสดงลิเกเป็นศาสตร์ที่มีศิลปะทั้งการร้อง การเจรจา การร่ายรำ การบรรเลงดนตรีประกอบการแสดง ผู้แสดงต้องมีประสบการณ์ ที่จะร้องบท ดำเนินเรื่องอย่างอ่อนช้อย นุ่มนวล รวมถึงไหวพริบปฏิภาณ
                  ปัจจุบันลิเกโคราช ได้รับความสนใจอย่างยิ่งจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน จนสามารถก่อตั้งสมาคมลิเกโคราช ขึ้นเพื่อช่วยเหลือกันในหมู่คณะลิเกโคราชด้วยกัน ซึ่งจัดว่าเป็นชุมชนเข้มแข็งที่มีจุดยืนที่ชัดเจน เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านทรัพยากรบุคคลที่เด่นชัดอย่างยิ่ง
                  ชาวโคราช  โชคดีอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสดูลิเก  จากงานเทศกาลต่างๆ ไม่ว่าจะงานวัด งานบุญ
การจัดงานถนนลิเก รวมถึงการสืบสานลิเกโคราชตามโรงเรียนต่างๆ ที่เชิญวิทยากรจากสมาคมลิเกโคราชไปสอนนักเรียนให้สามารถร้องและแสดงลิเกโคราชได้ ซึ่งวิทยาลัยนาฏศิลปนครราชสีมา เป็นสถานศึกษานำร่องที่ให้ความสำคัญด้านศิลปะการแสดงเพื่อสืบสาน สืบทอด ให้ลิเกโคราชยังอยู่คู่กับจังหวัดนครราชสีมาต่อไป 
                ลิเกในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมากทั้งด้านกระบวนการรำ เนื้อเรื่องที่ใช้มีการดัดแปลงไปจากเดิม ยิ่งปัจจุบันกระแสเพลงลูกทุ่งที่ได้รับความนิยมทำให้ลิเกนำเพลงลูกทุ่งมาร้องแทรกในการแสดงเพื่อเพิ่มสีสันและความทันสมัย ลิเกเป็นการแสดงที่อยู่คู่กับคนไทยมาช้านาน มีการนำละครมาผสมผสานและพัฒนาการแต่งกายรวมทั้งดนตรี การร้อง การรำ บวกกับแนวคิดและภูมิปัญญาชาวบ้านกลายมาเป็นศิลปะ การแสดงที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ลิเกจะอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีคนดู เพราะลิเกนั้นคือผลงานที่เกิดจากภูมิปัญญาชาวบ้านที่สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อตอบสนองความบันเทิงของคนไทยมาช้านานทั้งยังเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่า บ่งบอกถึงรากเหง้าแห่งวัฒนธรรมของตนเอง จึงขอให้ทุกท่านร่วมด้วย ช่วยกันรักษาศิลปะการแสดงลิเกโคราชให้คงอยู่คู่จังหวัดนครราชสีมาสืบไป
               เป็นอย่างไรกันบ้างคะ ลิเกโคราชของบ้านเรา ผู้เขียนได้นำรูปสวยๆ มาฝาก หวังว่าจะชื่นชอบนะคะ และครั้งต่อไปจะนำเรื่องราวสนุกๆ มาเล่าสู่กันฟัง  สำหรับวันนี้ขอลาไปก่อน...สวัสดีค่ะ

บทความนี้ลงตีพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์สื่อโคราชสัมพันธ์ ประจำเดือนกันยายน2553
คอลัมภ์ ศิลปะ บันเทิง

ลิเกโคราช ศาสตร์และศิลป์แห่งศิลปะการแสดง

         เขียนโดย       อ.วาสนา  ร่มโพธิ์  วิทยาลัยนาฏศิลปนครราชสีมา

        เมื่อวันที่ 13-14สิงหาคม 2553 ที่ผ่านมา วิทยาลัยนาฏศิลปนครราชสีมาร่วมกับโรงละครแห่งชาติภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.นครราชสีมา ได้จัดงานมหกรรมศิลปวัฒนธรรม ภายใต้โครงการไทยเข้มแข็ง โดยรวมการแสดงนาฏศิลป์ 4 ภาค มาจัดแสดง ณ เวทีกลางแจ้งและในโรงละครแห่งชาติภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.นครราชสีมา  มีรายการที่น่าสนใจอยู่มากมายโดยเฉพาะการเสวนาลิเกโคราช ดำเนินการโดย อ. อนันท์ นาคคง  ผู้เชี่ยวชาญทางด้านดนตรีจากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล บรรยากาศการเสวนาสนุกสนานและมีสาระอันเป็นประโยชน์ดีมาก ผู้เขียนจึงขอนำเรื่องราวมาเล่าสู่กันฟัง

....เห่ เฮ เฮ เฮ้ เฮเห่เฮ เฮเห่เฮ เฮเห่เฮ เฮ้เฮเฮเฮ.... สาลามานา ฮัดชาสาเก
ปลาดุกกระดุกกระดิก เอาไปผัดพริกอร่อยดีเฮ    สวัสดีพ่อแม่ทั้งหลาย พี่น้องหญิงชายที่สนใจลิเก...............
ฮาเลวังกา รีบ ๆ เข้ามาดูลิเก
         เสียงคำร้องข้างบนนี้ผู้เขียนสามารถร้องตามและยังจำติดหูได้ตลอดมา  เมื่อผู้เขียนได้ยินเสียงผู้ชายที่แต่งตัวคล้ายแขก สวมหมวกหนีบออกมายืนจับไมค์ร้องเพลง เรียกกันว่า การออกแขก อันเป็นการเริ่มต้นการแสดงลิเก  จึงเคลื่อนย้ายตัวเองไปอยู่ใกล้ๆเวที ชนิดติดขอบเวทีก็ว่าได้  เอ๊ะๆ ไม่ใช่แม่ยกนะแต่ต้องเก็บรูปสวยๆ มาฝากท่านผู้อ่านไงคะ
          ลิเกโคราช เป็นเอกลักษณ์และวัฒนธรรมทางด้านศิลปะการแสดงที่สืบทอดกันมาตั้งแต่รุ่นคุณปู่ คุณย่า หลังสงครามโลกครั้งที่ 2   ลิเกโคราชยุคแรกๆได้ยึดแบบอย่างการแสดงจากละครนอกซึ่งมีแต่ผู้ชายล้วน
คณะลิเกที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือ คณะดอกดิน เสือสง่า พ่อดอกดินเป็นบุคคลที่มีพรสวรรค์ในการเล่นลิเกมาก วงการลิเกต้องจารึกชื่อของท่านไว้ในประวัติศาสตร์ลิเกไทย เพราะท่านเป็นคนแรกที่นำชายจริง หญิงแท้มาเล่นตามบทบาท และมีรูปแบบการแสดงที่มีแบบแผน นอกจากนี้พ่อดอกดินยังได้คิดเพลง รานิเกลิง อันเป็นสัญลักษณ์ของการร้องลิเกขึ้นใหม่แทนการใช้เพลงหงส์ทองเดิม ลิเกนั้นได้มีวิวัฒนาการหลากหลายรูปแบบและมีชื่อเรียกต่างกันคือ ลิเกบันตน ลิเกลูกบทและลิเกทรงเครื่อง
ลิเกบันตน เป็นการแสดงเรื่องราวละครชุดสั้นๆ ใช้รำมะนาเป็นเครื่องดนตรีแต่เครื่องแต่งกายและสำเนียงเจรจายังเลียนแบบชาวมุสลิม
ลิเกลูกบท เกิดจากพวกปี่พาทย์นำลิเกบันตนไปแสดงประกอบการบรรเลงเพลงลูกบทโดยใช้ปี่พาทย์ทำเพลงรับแทนการใช้ลูกคู่ร้องประกอบการตีรำมะนาแบบเดิม
ลิเกทรงเครื่อง เกิดจากการผสมผสานการแสดงของลิเกบันตนและลิเกลูกบทเข้าด้วยกันซึ่งเดิมแต่งตัวด้วยเสื้อคอกลม นุ่งโจงกระเบนและมีผ้าคาดเท่านั้น ครั้งถึงยุคพระยาเพชรปาณี(ผู้ให้กำเนิดวิกลิเกคนแรก)ท่านได้นำเครื่องแต่งกายของข้าราชการในสมัยรัชกาลที่ 5 มาดัดแปลง จึงเรียกกันว่าแต่งองค์ทรงเครื่องและเพี้ยนมาเป็นลิเกทรงเครื่อง
                   ปัจจุบันการแสดงลิเกพยายามดัดแปลงการแสดงให้แตกต่างจากรูปแบบเดิมทั้งเครื่องแต่งกายที่สวยงามเน้นความอลังการด้วยเพชรหรือคลิสตัล การปรับเนื้อเรื่องแสดงให้กระชับฉับไวรวดเร็ว สนุกสนาน ใช้ภาษาที่ทันสมัยทันต่อเหตุการณ์บ้านเมือง
                โรงลิเกนับว่าเป็นสถานที่สำคัญสำหรับการแสดงลิเก ทั้งแบบสร้างชั่วคราวและแบบถาวรซึ่งจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลักๆ คือส่วนหน้าและส่วนหลังโดยใช้ฉากที่ทำจากผ้าดิบเขียนเป็นภาพต่าง ๆ กั้นเป็นฉาก ภาพที่นิยมก็คือฉากท้องพระโรง ด้านบนของฉากมีชื่อคณะพร้อมเบอร์โทรศัพท์บอกไว้อย่างชัดเจนซึ่งถือเป็นการโฆษณา และสิ่งที่จะขาดไม่ได้เลยบนเวทีก็คือ เตียง เป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุดในการแสดงเพราะใช้ได้เอนกประสงค์ไม่ว่าจะเป็นราชอาสน์ของพระราชา ภูเขา บ้าน หรือแม้แต่เป็นเตียงของยาจกสุดแล้วแต่จะสมมติขึ้นมา ด้านขวาของเวทีเป็นที่ตั้งของวงปี่พาทย์ซึ่งประกอบด้วยเครื่องดนตรีหลักได้แก่ ระนาดเอก ปี่ ขลุ่ย ตะโพน ฉิ่งและฉาบ
             การแต่งหน้าของลิเกนั้นเริ่มมีในยุคลิเกทรงเครื่องโดยแต่งเลียนแบบละครรำ ซึ่งมี 3 ขั้นตอนหลัก คือ ผัดหน้า เขียนคิ้วและทาปาก อีกวิธีหนึ่งที่ลิเกชอบทำนั่นก็คือ การแรเงาสันจมูกให้ดูโด่ง แต่โดยรวมแล้วการแต่งหน้าของลิเกไม่มีแบบแผนตายตัว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับรสนิยมหรือสมัยนิยม
             ลิเกแต่ละคณะปกติแล้วจะมีนักแสดงประมาณ 10 คน ประกอบด้วย พระเอก นางเอก ตัวพ่อ
ตัวแม่ของนางเอกหรือพระเอก พระรอง ตัวตลก ตัวโกง นางอิจฉา เป็นต้น ลิเกเป็นอาชีพที่ผู้เล่นจะรู้หน้าที่ของตน มีความเป็นระเบียบ สงบและเคารพนับถือผู้อาวุโสไม่ว่าผู้นั้นจะมีตำแหน่งใดในคณะก็ตามและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นที่เคารพบูชาของชาวลิเกก็คือ ศีรษะฤาษี หรือคนในวงการนาฏศิลป์เรียกว่าพ่อแก่ ฉะนั้นก่อนเริ่มการแสดง ทุกคนในคณะลิเกต้องไหว้พ่อแก่ ก่อนโดยเชื่อกันว่าจะเป็นการช่วยปัดเสนียดจัญไรต่างๆออกไปก่อนเริ่มการแสดง ซึ่งถือเป็นอีกขวัญกำลังใจหนึ่งของผู้แสดง
                  ชาวโคราช นิยมดูการแสดงลิเกเป็นอย่างมาก เพราะลิเกเป็นการแสดงที่สนุกสนาน มีการดำเนินเรื่องเร็วและตลกขบขัน นอกจากตัวพระเอกนางเอกที่ช่วยชูโรงแล้ว ตัวแสดงที่เป็นที่ชื่นชอบของคนทุกเพศทุกวัยก็คือตัวตลกหรือที่มักเรียกว่า ตัวโจ๊ก ซึ่งช่วยสร้างสีสันให้กับเรื่องเป็นอย่างดี
                  ครูบุญยัง เกตุคง (ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง นาฏศิลป์ไทย (ลิเก) พ.ศ. 2534) เป็นบุคคลหนึ่งที่สร้างชื่อเสียงด้านลิเกโคราชให้โด่งดังไปทั่วประเทศ มีความสามารถทางศิลปะการแสดงลิเก และดนตรี ที่มีผลงานดีเด่น เป็นที่ยอมรับในวงการเดียวกันว่า เป็นผู้รอบรู้ทั้งกระบวนกลอน กระบวนร้องและกระบวนรำของลิเกทรงเครื่อง ซึ่งได้รับการถ่ายทอดโดยตรงจากปรมาจารย์ผู้ก่อตั้งศิลปะแขนงนี้ มีความสามารถในการแสดงได้หลายบทบาท และถ่ายทอดกระบวนการร่ายรำลิเกทรงเครื่องมายังคณะลิเกต่างๆ ในละแวกถนนมุขมนตรีซึ่งเป็นแหล่งรวมลิเกโคราชที่หนาแน่นที่สุดในจังหวัดนครราชสีมา  
            การแสดงลิเกเป็นศาสตร์ที่มีศิลปะทั้งการร้อง การเจรจา การร่ายรำ การบรรเลงดนตรีประกอบการแสดง ผู้แสดงต้องมีประสบการณ์ ที่จะร้องบท ดำเนินเรื่องอย่างอ่อนช้อย นุ่มนวล รวมถึงไหวพริบปฏิภาณ
                  ปัจจุบันลิเกโคราช ได้รับความสนใจอย่างยิ่งจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน จนสามารถก่อตั้งสมาคมลิเกโคราช ขึ้นเพื่อช่วยเหลือกันในหมู่คณะลิเกโคราชด้วยกัน ซึ่งจัดว่าเป็นชุมชนเข้มแข็งที่มีจุดยืนที่ชัดเจน เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านทรัพยากรบุคคลที่เด่นชัดอย่างยิ่ง
                  ชาวโคราช  โชคดีอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสดูลิเก  จากงานเทศกาลต่างๆ ไม่ว่าจะงานวัด งานบุญ
การจัดงานถนนลิเก รวมถึงการสืบสานลิเกโคราชตามโรงเรียนต่างๆ ที่เชิญวิทยากรจากสมาคมลิเกโคราชไปสอนนักเรียนให้สามารถร้องและแสดงลิเกโคราชได้ ซึ่งวิทยาลัยนาฏศิลปนครราชสีมา เป็นสถานศึกษานำร่องที่ให้ความสำคัญด้านศิลปะการแสดงเพื่อสืบสาน สืบทอด ให้ลิเกโคราชยังอยู่คู่กับจังหวัดนครราชสีมาต่อไป 
                ลิเกในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมากทั้งด้านกระบวนการรำ เนื้อเรื่องที่ใช้มีการดัดแปลงไปจากเดิม ยิ่งปัจจุบันกระแสเพลงลูกทุ่งที่ได้รับความนิยมทำให้ลิเกนำเพลงลูกทุ่งมาร้องแทรกในการแสดงเพื่อเพิ่มสีสันและความทันสมัย ลิเกเป็นการแสดงที่อยู่คู่กับคนไทยมาช้านาน มีการนำละครมาผสมผสานและพัฒนาการแต่งกายรวมทั้งดนตรี การร้อง การรำ บวกกับแนวคิดและภูมิปัญญาชาวบ้านกลายมาเป็นศิลปะ การแสดงที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ลิเกจะอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีคนดู เพราะลิเกนั้นคือผลงานที่เกิดจากภูมิปัญญาชาวบ้านที่สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อตอบสนองความบันเทิงของคนไทยมาช้านานทั้งยังเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่า บ่งบอกถึงรากเหง้าแห่งวัฒนธรรมของตนเอง จึงขอให้ทุกท่านร่วมด้วย ช่วยกันรักษาศิลปะการแสดงลิเกโคราชให้คงอยู่คู่จังหวัดนครราชสีมาสืบไป
               เป็นอย่างไรกันบ้างคะ ลิเกโคราชของบ้านเรา ผู้เขียนได้นำรูปสวยๆ มาฝาก หวังว่าจะชื่นชอบนะคะ และครั้งต่อไปจะนำเรื่องราวสนุกๆ มาเล่าสู่กันฟัง  สำหรับวันนี้ขอลาไปก่อน...สวัสดีค่ะ
บทความนี้ลงตีพิมพ์หนังสือพิมพ์สื่อโคราชสัมพันธ์ประจำเดือนกันยายน2553 คอลัมภ์ ศิลปะ บันเทิง