วันอังคารที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ลิเกโคราช ศาสตร์และศิลป์แห่งศิลปะการแสดง

         เขียนโดย       อ.วาสนา  ร่มโพธิ์  วิทยาลัยนาฏศิลปนครราชสีมา

        เมื่อวันที่ 13-14สิงหาคม 2553 ที่ผ่านมา วิทยาลัยนาฏศิลปนครราชสีมาร่วมกับโรงละครแห่งชาติภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.นครราชสีมา ได้จัดงานมหกรรมศิลปวัฒนธรรม ภายใต้โครงการไทยเข้มแข็ง โดยรวมการแสดงนาฏศิลป์ 4 ภาค มาจัดแสดง ณ เวทีกลางแจ้งและในโรงละครแห่งชาติภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.นครราชสีมา  มีรายการที่น่าสนใจอยู่มากมายโดยเฉพาะการเสวนาลิเกโคราช ดำเนินการโดย อ. อนันท์ นาคคง  ผู้เชี่ยวชาญทางด้านดนตรีจากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล บรรยากาศการเสวนาสนุกสนานและมีสาระอันเป็นประโยชน์ดีมาก ผู้เขียนจึงขอนำเรื่องราวมาเล่าสู่กันฟัง

....เห่ เฮ เฮ เฮ้ เฮเห่เฮ เฮเห่เฮ เฮเห่เฮ เฮ้เฮเฮเฮ.... สาลามานา ฮัดชาสาเก
ปลาดุกกระดุกกระดิก เอาไปผัดพริกอร่อยดีเฮ    สวัสดีพ่อแม่ทั้งหลาย พี่น้องหญิงชายที่สนใจลิเก...............
ฮาเลวังกา รีบ ๆ เข้ามาดูลิเก
         เสียงคำร้องข้างบนนี้ผู้เขียนสามารถร้องตามและยังจำติดหูได้ตลอดมา  เมื่อผู้เขียนได้ยินเสียงผู้ชายที่แต่งตัวคล้ายแขก สวมหมวกหนีบออกมายืนจับไมค์ร้องเพลง เรียกกันว่า การออกแขก อันเป็นการเริ่มต้นการแสดงลิเก  จึงเคลื่อนย้ายตัวเองไปอยู่ใกล้ๆเวที ชนิดติดขอบเวทีก็ว่าได้  เอ๊ะๆ ไม่ใช่แม่ยกนะแต่ต้องเก็บรูปสวยๆ มาฝากท่านผู้อ่านไงคะ
          ลิเกโคราช เป็นเอกลักษณ์และวัฒนธรรมทางด้านศิลปะการแสดงที่สืบทอดกันมาตั้งแต่รุ่นคุณปู่ คุณย่า หลังสงครามโลกครั้งที่ 2   ลิเกโคราชยุคแรกๆได้ยึดแบบอย่างการแสดงจากละครนอกซึ่งมีแต่ผู้ชายล้วน
คณะลิเกที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือ คณะดอกดิน เสือสง่า พ่อดอกดินเป็นบุคคลที่มีพรสวรรค์ในการเล่นลิเกมาก วงการลิเกต้องจารึกชื่อของท่านไว้ในประวัติศาสตร์ลิเกไทย เพราะท่านเป็นคนแรกที่นำชายจริง หญิงแท้มาเล่นตามบทบาท และมีรูปแบบการแสดงที่มีแบบแผน นอกจากนี้พ่อดอกดินยังได้คิดเพลง รานิเกลิง อันเป็นสัญลักษณ์ของการร้องลิเกขึ้นใหม่แทนการใช้เพลงหงส์ทองเดิม ลิเกนั้นได้มีวิวัฒนาการหลากหลายรูปแบบและมีชื่อเรียกต่างกันคือ ลิเกบันตน ลิเกลูกบทและลิเกทรงเครื่อง
ลิเกบันตน เป็นการแสดงเรื่องราวละครชุดสั้นๆ ใช้รำมะนาเป็นเครื่องดนตรีแต่เครื่องแต่งกายและสำเนียงเจรจายังเลียนแบบชาวมุสลิม
ลิเกลูกบท เกิดจากพวกปี่พาทย์นำลิเกบันตนไปแสดงประกอบการบรรเลงเพลงลูกบทโดยใช้ปี่พาทย์ทำเพลงรับแทนการใช้ลูกคู่ร้องประกอบการตีรำมะนาแบบเดิม
ลิเกทรงเครื่อง เกิดจากการผสมผสานการแสดงของลิเกบันตนและลิเกลูกบทเข้าด้วยกันซึ่งเดิมแต่งตัวด้วยเสื้อคอกลม นุ่งโจงกระเบนและมีผ้าคาดเท่านั้น ครั้งถึงยุคพระยาเพชรปาณี(ผู้ให้กำเนิดวิกลิเกคนแรก)ท่านได้นำเครื่องแต่งกายของข้าราชการในสมัยรัชกาลที่ 5 มาดัดแปลง จึงเรียกกันว่าแต่งองค์ทรงเครื่องและเพี้ยนมาเป็นลิเกทรงเครื่อง
                   ปัจจุบันการแสดงลิเกพยายามดัดแปลงการแสดงให้แตกต่างจากรูปแบบเดิมทั้งเครื่องแต่งกายที่สวยงามเน้นความอลังการด้วยเพชรหรือคลิสตัล การปรับเนื้อเรื่องแสดงให้กระชับฉับไวรวดเร็ว สนุกสนาน ใช้ภาษาที่ทันสมัยทันต่อเหตุการณ์บ้านเมือง
                โรงลิเกนับว่าเป็นสถานที่สำคัญสำหรับการแสดงลิเก ทั้งแบบสร้างชั่วคราวและแบบถาวรซึ่งจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลักๆ คือส่วนหน้าและส่วนหลังโดยใช้ฉากที่ทำจากผ้าดิบเขียนเป็นภาพต่าง ๆ กั้นเป็นฉาก ภาพที่นิยมก็คือฉากท้องพระโรง ด้านบนของฉากมีชื่อคณะพร้อมเบอร์โทรศัพท์บอกไว้อย่างชัดเจนซึ่งถือเป็นการโฆษณา และสิ่งที่จะขาดไม่ได้เลยบนเวทีก็คือ เตียง เป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุดในการแสดงเพราะใช้ได้เอนกประสงค์ไม่ว่าจะเป็นราชอาสน์ของพระราชา ภูเขา บ้าน หรือแม้แต่เป็นเตียงของยาจกสุดแล้วแต่จะสมมติขึ้นมา ด้านขวาของเวทีเป็นที่ตั้งของวงปี่พาทย์ซึ่งประกอบด้วยเครื่องดนตรีหลักได้แก่ ระนาดเอก ปี่ ขลุ่ย ตะโพน ฉิ่งและฉาบ
             การแต่งหน้าของลิเกนั้นเริ่มมีในยุคลิเกทรงเครื่องโดยแต่งเลียนแบบละครรำ ซึ่งมี 3 ขั้นตอนหลัก คือ ผัดหน้า เขียนคิ้วและทาปาก อีกวิธีหนึ่งที่ลิเกชอบทำนั่นก็คือ การแรเงาสันจมูกให้ดูโด่ง แต่โดยรวมแล้วการแต่งหน้าของลิเกไม่มีแบบแผนตายตัว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับรสนิยมหรือสมัยนิยม
             ลิเกแต่ละคณะปกติแล้วจะมีนักแสดงประมาณ 10 คน ประกอบด้วย พระเอก นางเอก ตัวพ่อ
ตัวแม่ของนางเอกหรือพระเอก พระรอง ตัวตลก ตัวโกง นางอิจฉา เป็นต้น ลิเกเป็นอาชีพที่ผู้เล่นจะรู้หน้าที่ของตน มีความเป็นระเบียบ สงบและเคารพนับถือผู้อาวุโสไม่ว่าผู้นั้นจะมีตำแหน่งใดในคณะก็ตามและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นที่เคารพบูชาของชาวลิเกก็คือ ศีรษะฤาษี หรือคนในวงการนาฏศิลป์เรียกว่าพ่อแก่ ฉะนั้นก่อนเริ่มการแสดง ทุกคนในคณะลิเกต้องไหว้พ่อแก่ ก่อนโดยเชื่อกันว่าจะเป็นการช่วยปัดเสนียดจัญไรต่างๆออกไปก่อนเริ่มการแสดง ซึ่งถือเป็นอีกขวัญกำลังใจหนึ่งของผู้แสดง
                  ชาวโคราช นิยมดูการแสดงลิเกเป็นอย่างมาก เพราะลิเกเป็นการแสดงที่สนุกสนาน มีการดำเนินเรื่องเร็วและตลกขบขัน นอกจากตัวพระเอกนางเอกที่ช่วยชูโรงแล้ว ตัวแสดงที่เป็นที่ชื่นชอบของคนทุกเพศทุกวัยก็คือตัวตลกหรือที่มักเรียกว่า ตัวโจ๊ก ซึ่งช่วยสร้างสีสันให้กับเรื่องเป็นอย่างดี
                  ครูบุญยัง เกตุคง (ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง นาฏศิลป์ไทย (ลิเก) พ.ศ. 2534) เป็นบุคคลหนึ่งที่สร้างชื่อเสียงด้านลิเกโคราชให้โด่งดังไปทั่วประเทศ มีความสามารถทางศิลปะการแสดงลิเก และดนตรี ที่มีผลงานดีเด่น เป็นที่ยอมรับในวงการเดียวกันว่า เป็นผู้รอบรู้ทั้งกระบวนกลอน กระบวนร้องและกระบวนรำของลิเกทรงเครื่อง ซึ่งได้รับการถ่ายทอดโดยตรงจากปรมาจารย์ผู้ก่อตั้งศิลปะแขนงนี้ มีความสามารถในการแสดงได้หลายบทบาท และถ่ายทอดกระบวนการร่ายรำลิเกทรงเครื่องมายังคณะลิเกต่างๆ ในละแวกถนนมุขมนตรีซึ่งเป็นแหล่งรวมลิเกโคราชที่หนาแน่นที่สุดในจังหวัดนครราชสีมา  
            การแสดงลิเกเป็นศาสตร์ที่มีศิลปะทั้งการร้อง การเจรจา การร่ายรำ การบรรเลงดนตรีประกอบการแสดง ผู้แสดงต้องมีประสบการณ์ ที่จะร้องบท ดำเนินเรื่องอย่างอ่อนช้อย นุ่มนวล รวมถึงไหวพริบปฏิภาณ
                  ปัจจุบันลิเกโคราช ได้รับความสนใจอย่างยิ่งจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน จนสามารถก่อตั้งสมาคมลิเกโคราช ขึ้นเพื่อช่วยเหลือกันในหมู่คณะลิเกโคราชด้วยกัน ซึ่งจัดว่าเป็นชุมชนเข้มแข็งที่มีจุดยืนที่ชัดเจน เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านทรัพยากรบุคคลที่เด่นชัดอย่างยิ่ง
                  ชาวโคราช  โชคดีอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสดูลิเก  จากงานเทศกาลต่างๆ ไม่ว่าจะงานวัด งานบุญ
การจัดงานถนนลิเก รวมถึงการสืบสานลิเกโคราชตามโรงเรียนต่างๆ ที่เชิญวิทยากรจากสมาคมลิเกโคราชไปสอนนักเรียนให้สามารถร้องและแสดงลิเกโคราชได้ ซึ่งวิทยาลัยนาฏศิลปนครราชสีมา เป็นสถานศึกษานำร่องที่ให้ความสำคัญด้านศิลปะการแสดงเพื่อสืบสาน สืบทอด ให้ลิเกโคราชยังอยู่คู่กับจังหวัดนครราชสีมาต่อไป 
                ลิเกในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมากทั้งด้านกระบวนการรำ เนื้อเรื่องที่ใช้มีการดัดแปลงไปจากเดิม ยิ่งปัจจุบันกระแสเพลงลูกทุ่งที่ได้รับความนิยมทำให้ลิเกนำเพลงลูกทุ่งมาร้องแทรกในการแสดงเพื่อเพิ่มสีสันและความทันสมัย ลิเกเป็นการแสดงที่อยู่คู่กับคนไทยมาช้านาน มีการนำละครมาผสมผสานและพัฒนาการแต่งกายรวมทั้งดนตรี การร้อง การรำ บวกกับแนวคิดและภูมิปัญญาชาวบ้านกลายมาเป็นศิลปะ การแสดงที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ลิเกจะอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีคนดู เพราะลิเกนั้นคือผลงานที่เกิดจากภูมิปัญญาชาวบ้านที่สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อตอบสนองความบันเทิงของคนไทยมาช้านานทั้งยังเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่า บ่งบอกถึงรากเหง้าแห่งวัฒนธรรมของตนเอง จึงขอให้ทุกท่านร่วมด้วย ช่วยกันรักษาศิลปะการแสดงลิเกโคราชให้คงอยู่คู่จังหวัดนครราชสีมาสืบไป
               เป็นอย่างไรกันบ้างคะ ลิเกโคราชของบ้านเรา ผู้เขียนได้นำรูปสวยๆ มาฝาก หวังว่าจะชื่นชอบนะคะ และครั้งต่อไปจะนำเรื่องราวสนุกๆ มาเล่าสู่กันฟัง  สำหรับวันนี้ขอลาไปก่อน...สวัสดีค่ะ
บทความนี้ลงตีพิมพ์หนังสือพิมพ์สื่อโคราชสัมพันธ์ประจำเดือนกันยายน2553 คอลัมภ์ ศิลปะ บันเทิง

1 ความคิดเห็น:

  1. LuckyClub Casino site - Live & Online Gambling - Lucky Club
    Luckyclub luckyclub.live Casino offers fast withdrawals and a unique experience for you all the way. Register at Lucky Club and enjoy your favorite games, promotions and

    ตอบลบ